วิศวกรรมระบบไอโอทีและสารสนเทศคืออะไร ?

ในโลกยุคดิจิทัล 4.0 ที่เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในชีวิตประจำวันรวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ ที่การเชื่อมต่อสื่อสารนั้นเป็นไปอย่างไร้พรมแดน ไม่เพียงแต่การสื่อสารระหว่างมนุษย์อย่างเดียว แต่ยังมีการเชื่อมต่อส่อสารระหว่างอุปกรณ์กับอุปกรณ์ เครื่องจักร หรือทุกสรรพสิ่ง จึงเป็นที่มาของเทคโนโลยีระบบอินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่งหรือเรียกสั้นๆว่าไอโอที (IoT) ซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยีด้านสมาร์ทเซ็นเซอร์ การสื่อสารและเครือข่าย คอมพิวเตอร์และการพัฒนาซอฟต์แวร์ วิทยาการข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่บูรณาการความรู้ในหลากหลายด้านหรือเรียกว่าสหวิทยาการเพื่อให้สามารถออกแบบสร้างนวัตกรรมด้านระบบไอโอทีและสารสนเทศได้

หลักสูตรวิศวกรรมระบบไอโอทีและสารสนเทศ เป็นหลักสูตรที่ตอบสนองต่อนโยบายทางการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของรัฐบาล โดยมีความสอดคล้องกันกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2565-2569) ที่ได้มีการกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด (Disruption) และหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญนั้นคือ เทคโนโลยีระบบไอโอทีและสารสนเทศ เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ หรือที่เรียกว่า “S-Curve” ที่มีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉณิยะ และอุตสาหกรรมดิจิทัล (New S-Curve) รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ภาครัฐจะสนับสนุนและมีความต้องการบัณฑิตในสาขานี้จำนวนมาก

หลักสูตรวิศวกรรมระบบไอโอทีและสารสนเทศ เป็นเสมือนฟันเฟืองที่เชื่อมองค์ประกอบของโลกดิจิทัลเข้าด้วยกัน ทั้งศึกษาที่เรียนในหลักสูตรนี้จะได้ศึกษาและปฏิบัติเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีระบบไอโอทีและสารสนเทศโดยอาศัยความรู้พื้นฐาน ทั้งด้านซอฟต์แวร์ ประกอบด้วย การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การพัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชัน ด้านฮาร์ดแวร์ได้แก่ การพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและสมาร์ทเซ็นเซอร์ รวมถึงเชื่อมโยงส่อสารเข้าหากันด้วย การศึกษาด้านการสื่อสารและเครือข่าย ไปจนถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการข้อมูล โดยผสมผสานความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้เข้ากับกระบวนการทางวิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ เพื่อออกแบบสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และส่งเสริมให้นักศึกศึกษาต่อยอดนวัตกรรมของตนเองเพื่อผลิตใช้หรือทำเป็นสตาร์ทอัพเพื่อสร้างธุรกิจของตนเองได้


อาชีพที่ประกอบได้หลังจบการศึกษา

  • วิศวกรระบบไอโอที (IoT Engineer)
  • วิศวกรระบบสารสนเทศ (Information System Engineer)
  • วิศวกรระบบสมองกลฝังตัว
    (Embedded System Engineer)
  • วิศวกรซอฟต์แวร์ระบบสมองกลฝังตัว (Embedded Software Engineer)
  • นักพัฒนาแอพพลิเคชัน (Application Developer)
  • โปรแกรมเมอร์ (Programmer)
  • วิศวกรซอฟต์แวร์ (Software Engineer)
  • นักพัฒนาส่วนหน้า (Front End Developer)
  • นักพัฒนาส่วนเบื้องหลัง (Back End Developer)
  • นักพัฒนาฟูลสแต็ก (Full Stack Developer)
  • วิศวกรระบบคลาว์ (Cloud Engineer)
  • วิศวกรระบบเครือข่าย (Network Engineer)
  • นักวิทยาการข้อมูล (Data Scientist)
  • วิศวกรข้อมูล (Data Engineer)
  • ผู้ดูแลระบบ (System Administrator)
  • นักวิจัย นักวิชาการ เจ้าของธุรกิจส่วนตัว และอาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางด้านคอมพิวเตอร์หรือไอที ทั้งหมด


ครั้งแรกของประเทศไทยโครงการหลักสูตรปริญญาตรีสองปริญญา (Dual Degree) ระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังวศ.บ. วิศวกรรมระบบไอโอทีและสารสนเทศ และ วท.บ. ฟิสิกส์อุตสาหกรรม

ในโลกยุค Disruption ได้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งไปอย่างรวดเร็ว การรู้เพียงศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งจึงอาจไม่เพียงพอกับการต่อสู้ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะทางดิจิทัลและเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อโลกอันไร้พรมแดน จึงเป็นที่มาของหลักสูตร “PhysIoT” ที่ตอบสนอง กับการเปลี่ยนแปลงในยุค Disruption นี้ให้บัณฑิตมีความรู้ที่รอบด้านทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ อันเป็นศาสตร์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนพัฒนาประเทศชาติ เพื่อผลิตบัณฑิตนักฟิสิกส์ไอโอทีที่สามารถบูรณาการองค์ความรู้ที่จะสร้างนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไปในอนาคต ตอบโจทย์อุตสาหกรรมในยุค Thailand 4.0 อุตสาหกรรม New S-Curve รวมถึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

เรียน 4 ปี ได้ 2 ปริญญา

วศ.บ.วิศวกรรมระบบไอโอทีและสารสนเทศ+วท.บ. ฟิสิกส์อุตสาหกรรม

ทลายกำแพงระหว่างคณะ

ศึกษาและปฏิบัติด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและสมาร์ทเซ็นเซอร์การออกแบบและควบคุมอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์โดยใช้พื้นฐานด้านวงจรไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ระบบดิจิทัล และระบบสมองกลฝังตัว

จบแล้วฮอตสุดไม่มีตกยุค

หากได้ลองค้นหาคำว่า “Top 10 อาชีพไม่ตกงาน” แน่นอนว่าจะต้องเจอกับอาชีพด้านไอทีอย่างแน่นอน เพราะเป็นสายงานที่มีความหลากหลายมากในยุคดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 นี้ อุตสาหกรรมดิจิทัลที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และมีความต้องการบัณฑิตในสาขานี้เป็นอย่างมาก

อาชีพที่ประกอบได้หลังจบการศึกษา

  • นักวิจัยในภาครัฐและเอกชน
  • ผู้ประกอบการทางธุรกิจเทคโนโลยีวิศวกรไอโอที(IoT Engineer)
  • วิศวกรซอฟต์แวร์(Software Engineer)
  • วิศวกรระบบสมองกลฝังตัว (Embedded Engineer)
  • นักพัฒนาแอพพลิเคชัน(Application Developer)
  • นักวิทยาการข้อมูล(Data Scientist)
  • วิศวกรควบคุณภาพ
  • วิศวกรฝ่ายวิจัยและพัฒนา


ทำไมต้องเรียน วท.บ. ฟิสิกส์อุตสาหกรรม ที่ สจล. ?

หลักสูตรฟิสิกส์อุตสาหกรรมของ สจล. มุ่งพัฒนาความรู้ ทักษะ และเทคโนโลยีต่างๆ ทางฟิสิกส์และการนำศาสตร์ทางฟิสิกส์ไปประยุกต์ใช้งานในอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทและอุตสาหกรรม เป็นหลักสูตรที่มีความร่วมมือกับหน่วยงานอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ มีการจัดการเรียนการสอน ที่ให้ความรู้เทคโนโลยีด้านฟิสิกส์ที่รองรับความต้องการของอุตสาหกรรม ตัวอย่างรายวิชาที่น่าสนใจ เช่น ระบบตรวจสอบชิ้นงานด้วยภาพถ่ายแบบอัตโนมัติ การโปรแกรมภาษาไพธอนสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล การออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ระบบไอโอที ฟาร์มอัจฉริยะ การประมวลภาพทางการแพทย์ เป็นต้น

เมื่อนักศึกษาขึ้นชั้นปีที่ 2 นักศึกษาสามารถเลือกเรียนแบบ 2 ปริญญาร่วมกับหลักสูตรวิศวกรรมระบบไอโอทีและสารสนเทศซึ่งเปิดสอนโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เมื่อเรียนจบแล้วจะได้ปริญญา วท.บ.ฟิสิกส์อุตสาหกรรม และวศ.บ.วิศวกรรมระบบไอโอทีและสารสนเทศ


อาชีพที่ประกอบได้หลังจบการศึกษา

  • นัก STEM ศึกษา
  • นักวิจัย
  • วิศวกรอุตสาหการ
  • นักวิทยาศาสตร์/วิศวกรวัสดุ
  • วิศวกรไฟฟ้า
  • นักวิทยาศาสตร์ทางด้านข้อมูล
  • วิศวกรด้านแสง
  • วิศวกรวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือและความล้มเหลว
  • วิศวกรกระบวนการ
  • ผู้ประกอบการทางธุรกิจเทคโนโลยี
  • วิศวกรควบคุมคุณภาพ
  • วิศวกรวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือและการทดสอบ


ความเป็นมาของหลักสูตร

ภาควิชาวิศวกรรมสารสนเทศ เป็นภาควิชาหนึ่งในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นภาควิชาที่เปลี่ยนชื่อมาจากภาควิชาเทคนิคอุตสาหกรรม ซึ่งเปิดรับนักศึกษาในปี พ.ศ.2517 ในหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต แขนงวิชาเทคโนโลยีโทรทัศน์ เปิดสอนในระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นการเปิดรับก่อนการได้รับอนุมัติ ต่อมาได้รับอนุมัติหลักสูตรในปี พ.ศ.2518 โดยหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตร์บัณฑิต เป็นหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โดยเปิดการเรียนการสอนทั้งภาคเช้าและภาคค่ำ มีระยะเวลา 3 ปี เริ่มรับนักศึกษาในภาคการศึกษาที่ 1/2527 หรือในปีที่เริ่มงบประมาณ 2518 สถานที่ศึกษาที่ศูนย์นนทบุรีและลาดกระบัง อาจารย์ผู้สอนจะเป็นอาจารย์จากในภาควิชาเทคนิคอุตสาหกรรม ภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ และจากอาจารย์พิเศษจากภายนอก และในปี พ.ศ. 2541 ได้รับอนุมัติหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต และเริ่มรับนักศึกษาทั้งที่จบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และรับนักศึกษาที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยผ่านการสอนเอ็นทรานส์ ระยะเวลาการศึกษา 4 ปี โดยชื่อภาควิชายังคงเป็นชื่อภาควิชาเทคนิคอุตสาหกรรมเหมือนเดิม แต่ก็ยังคงดำเนินการในการเปลี่ยนชื่อภาควิชา ฯ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตร (โครงการเปลี่ยนชื่อภาควิชาฯ และเสนอการปรับปรุงหลักสูตรภาควิชาวิศวกรรมสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ : 2540 – 2544 )

   ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2544 ได้รับทราบในประกาศราชกิจจานุเบกษาอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อมาใช้ชื่อภาควิชาใหม่คือ “ภาควิชาวิศวกรรมสารสนเทศ” ภาควิชาวิศวกรรมสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารได้ปรับปรุงและจัดทำหลักสูตรสาขาวิศวกรรมสารสนเทศ ใหม่ในปี พ.ศ. 2544 ขึ้นเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ทางวิศวกรรมสารสนเทศซึ่งเป็นวิศวกรที่มีความรู้ประกอบด้วยพื้นฐานทางด้านคอมพิวเตอร์โทรคมนาคม อิเล็กทรอนิคส์ การจัดการข้อมูล เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานในสาขาวิชาชีพด้านสารสนเทศ (IT) และพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาแผนใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นการนำสื่อที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีมาประกอบการเรียนการสอนในทุกรูปแบบ และเพื่อพัฒนาประเทศชาติและเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลรวมทั้งการทำงานได้อย่างมีความสุข โดยสามารถดำเนินชีวิตภายใต้กรอบของสังคมแห่งโลกปัจจุบันได้อย่างมีความสุขภาควิชาวิศวกรรมสารสนเทศสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร

   ในปี พ.ศ.2553 คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยให้คณาจารย์ในภาควิชาวิศวกรรมสารสนเทศ (เดิม) ทำงานร่วมกับคณาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ภายใต้ส่วนวิชาการเดียวกันคือ “ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์” แต่ยังคงรับผิดชอบหลักสูตรวิศวกรรมสารสนเทศตามเดิม อีกทั้งยังได้ปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยเน้นให้นักศึกษามีความสามารถในการวิเคราะห์ ออกแบบ และประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างสร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม และงดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2563-2564

   จวบจนถึงปัจจุบัน พ.ศ.2564 หลักสูตรได้ทำการปรับปรุงให้เป็นชื่อหลักสูตรวิศวกรรมระบบไอโอทีและสารสนเทศ โดยได้ดำเนินการหลักสูตรให้เป็นไปตามนโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาหลักสูตรของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (บันได 5 ขั้น) โดยสอดคล้องตามนโยบายของสถาบันในเรื่อง “Disruptive Curriculum” ให้หลักสูตรมีความทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลง และยังเป็น Disruptive Curriculum ในแง่ของการบูรณาหลักสูตรโดยมีความร่วมมือกับทางคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์ หลักสูตรฟิสิกส์อุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ สจล. ในโครงการหลักสูตรสองปริญญา เพื่อทลายกำแพงระหว่างคณะ และส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสในการทำงานเพิ่มมากขึ้น และมีความรู้ที่รอบด้าน รวมถึงได้เปิดหลักสูตรวิชาโท (Minor Program) ในสาขาวิศวกรรมระบบไอโอทีและระบบอัจฉริยะ เพื่อให้นักศึกษาในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้เลือกเรียนเป็นวิชาที่สองของตนเองตามที่สนใจ